เหนียว หนึบ หนับ นุ่มลิ้น….ด้วยรสชาติหอม หวาน มัน เค็ม แบบไม่จัด หน้าตาสีสัน ดูจริงใจ แบบมีเอกลักษณ์ของตัวเอง เป็นธรรมชาติ ไม่เสแสร้ง ด้วยสีออกเทาๆ แทนๆ…หลายคนบอกว่า ขนมชนิดนี้กลายเป็นของหายากไปซะแล้ว
น้าก้อยได้ยินชื่อของขนมไทย “แดกงา” เมื่อไม่นานมานี้ แต่เพิ่งมาได้รู้จักหน้าตาตัวจริง และได้ชิม….ก็เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๘ ธันวาคม ที่ผ่านมานี้เอง ในงานประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของชุมชนเมืองเก่า รอบอุทยาทประวัติศาสตร์สุโขทัย ชื่องาน “รอบรั้วเมืองพระร่วง” สานสายใยแห่งวัฒนธรรมชุมชน สืบค้นประวัติศาสตร์เมืองมรดกโลก ชื่องานออกจะยาวไปสักหน่อย ทำให้จำยาก แต่ก็ไม่ว่ากัน เพราะบรรยากาศภายในงานน่าประทับใจซะเหลือเกิน
ที่ว่าไปเจอขนมไทย “แดกงา” ในงานนี้ ก็เพราะว่า เขาจัดให้มีการออกร้านงานหัตถกรรม และสินค้าของชุมชน อันรวมทั้งอาหารไทยพื้นเมืองทั้งคาวและหวานของชาวสุโขทัย ในเขตชุมชนรอบเมืองเก่าด้วย แขกรับเชิญผู้เข้ามาร่วมงานทุกท่าน รวมทั้งน้าก้อยก็ได้ชิมอาหารไทยพื้นถิ่นกันอย่างเต็มอิ่ม จุใจ
ขนมสัญชาติไทยแท้ รายการนี้มีส่วนผสมของแป้งข้าวเหนียว งาดำ น้ำตาล มะพร้าว ถั่วลิสง และ เกลือ ตามความเข้าใจของน้าก้อยแล้ว ขนมใดๆก็ตามที่มีส่วนผสมดังกล่าว ต้องจัดว่าเป็นขนมไทยแท้ทั้งสิ้น สำหรับชาวเมืองเก่าสุโขทัยนั้น นิยมทำขนมชนิดนี้ในพิธีทำขวัญข้าว หรือบางก็ว่าทำในประเพณีการทำขวัญผึ้ง ซึ่งเป็นประเพณีพื้นบ้านเก่าแก่ของหมู่บ้านโซกกระบาท ต.คีรีมาศ อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย ตามประวัติเล่าว่าในอดีตเมืองศรีคีรีมาศต้องส่งส่วยน้ำผึ้งทดแทนการถูกเกณฑ์แรงงาน จนถึงสมัย ร. 5 จึงยกเลิกการส่งส่วยน้ำผึ้ง เป็นผลให้เกิดมีประเพณีการทำขวัญผึ้งเพื่อให้ผึ้งมาทำรัง ตามต้นไม้มากๆ ก่อนจะถึงวันทำพิธี ชาวบ้านจะช่วยกันเตรียมข้าวของเครื่องใช้ ข้าวปลาอาหาร สำหรับรังผึ้งปลอม และการทำขนม “แดกงา” ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ขาดเสียมิได้สำหรับงานประเพณีทำขวัญผึ้งนี้

ในวันงาน “รอบรั้วเมืองพระร่วง” คุณยายประคำ กล่องซู่ แห่งชุมชนบ้านเหนือ เมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย เป็นผู้ลงมือทำขนมนี้ โดยมีลูกๆ หลานๆ มาช่วยทำ คุณยายเล่าว่ามีอาชีพทำขนมขาย เพื่อเป็นอาชีพเสริม มาเป็นเวลานานหลายปีมากแล้ว จนเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในชุมชน คุณยายจะทำขนมออกไปขายในตลาดตอนเช้าบริเวณข้างวัดตระพังทอง หรือบางครั้งก็มีลูกค้ามาซื้อถึงที่บ้าน และยังรับสั่งทำตามความต้องการของลูกค้าอีกด้วย นอกจากขนมแดกงาแล้ว คุณยายยังทำขนมไทยอื่นๆ อีก เช่น ขนมแตงโบราณ ขนมกลัวย เป็นต้น

ใครผ่านไปมาแถวชุมชนเมืองเก่า หรือตลาดเช้าข้างวัดตระพังทอง จะแวะไปอุดหนุนคุณยายประคำกันบ้าง ก็ถือว่าจะได้รับอรรถรสในการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งนะคะ
เจอขนมแนวนี้ทีไร กินไม่หยุดทุกทีไป
หอม หวาน มันส์ ……..
คนโบราณนะเนี่ย
หลายคนก็พูดแบบพี่ก้อยครับ
คนรุ่นใหม่หัวใจโบราณ….
พี่ก้อย ผมมีรูปตลาดแห่งหนึ่งในกรุงเทพ ฯ น่าสนใจดีครับ
ตามมากินขนมอร่อย ๆ กับพี่ก้อยคร่า ^^
พี่แอบหยิบกินไปหลายเม็ดเลยนะ
ทำหนังสือขนมไทยขายเลยครับ
English version
ขนมโบราณแบบนี้ที่ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี ยังมีขายอยู่จ้า
ในตลาดทัพทันหรือเปล่าคะ โอกาสหน้าไปทัพทันจะได้ลองหาชิมดูค่ะ
ถ้ากลับศรีนคร(คลองมะพลับ)โขทัย ไม่พลาดจริง ๆ เลยนะเนีย หาทานยากมาก ๆ อร่อยค่ะ
ผมก็ชอบมากมาย นึกถึงสมัยเด็กๆ และขนมขี้หนูด้วยหลายคนอาจจะไม่รู้จัก
ใช่ค่ะ ดอกเด็กๆ ก็ชอบขนมขี้หนูเหมือนกัน หอมกลิ่นมะลิอ่อนลอยมาแตะจมูกเชียวค่ะ หวานอ่อน สีก็หวาน อร่อยมาก เดี๋ยวนี้หายากนะคะ ไม่เห็นมานานแล้ว
สมัยพุทธกาลก็มีขนมแดกงาครับ…(แน่ใจได้ไงว่าเป็นขนมไทยแท้)
………..ลำดับนั้น จิตตคหบดีเข้าไปหาท่านพระสุธรรม ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ท่านพระสุธรรมบอกจิตตคหบดีผู้นั่ง ณ ที่สมควรแล้วว่า “ท่านเตรียมของเคี้ยว
ของฉันไว้อย่างเพียงพอ แต่สิ่งหนึ่ง คือ ขนมแดกงา ไม่มีในที่นี้”……
วินย.๖/๓๓/๖๕-๖๖ พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาภาคภาษาไทย
ขอบคุณค่ะคุณ sp สำหรับการแบ่งปันความรู้ ดิฉันไม่ทราบมาก่อนว่ามีขนมแดกงาในสมัยพุทธกาล พอจะมีภาพถ่าย และส่วนผสมของขนมแดกงาในสมัยพุทธกาลบ้างมั้ยคะ อยากเห็นจัง