คลังเก็บหมวดหมู่: They are all around me

เลาะริมทางถนนพระร่วง


วางแผนกันมาเนิ่นนานข้ามประเทศเลยก็ว่าได้นะ ตั้งแต่สมัย Namai ยังอยู่ที่เมืองลาสเวกัส ตั้งใจไว้ว่าจะขี่จักรยานสำรวจเส้นทางถนนพระร่วง….และแล้ววันนี้ฝันของหนุ่ม (เหลือ) น้อยอย่าง Namai ก็เป็นจริงซะที เย้ๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

แผนที่ถนนพระร่วง บริเวณหน้าอุทยานแห่งชาติรามคำแหง
แผนที่ถนนพระร่วง บริเวณหน้าอุทยานแห่งชาติรามคำแหง

พวกเราชาวจักรยานประกอบไปด้วยสามนักปั่นน่องทอง คือ โรเบิร์ต เอี๊ยน และ Namai ส่วน Nakoi เป็นแผนกบริการ ต้องขับรถบรรทุกจักรยานของตัวเองตามทีมปั่นน่องทองไป ด้วยเหตุเพราะ Nakoi อ่อนซ้อม หรือเรียกง่ายๆว่า ฝีมือยังไม่ถึงนั่นเอง เขาเลยอนุญาตให้แค่ขับรถตามคอยบริการยามฉุกเฉิน…..แต่ก็ยังดีนะ ได้ชมวิวสวยๆไปกับเขา มิเสียแรงขับรถนะจะบอกให้

ถนนสายพระร่วงที่ว่าเนี่ย เริ่มต้นมาจากเมืองศรีสัชนาลัย และไปสุดที่จังหวัดกำแพงเพชร เป็นระยะทาง 123 กิโลเมตร สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย เมื่อกว่า 700 ปีมาแล้ว นับได้ว่าเป็นทางหลวงแผ่นดินสายแรก….. แต่ว่าจุดปั่นของเราจะเริ่มจากในเขตเมืองเก่า สุโขทัย ไปสิ้นสุดที่บ้านทานตะวัน ก่อนเข้าเขตอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ด้วยเหตุที่เรามีเวลาจำกัดเพียงเท่านี้…..นักปั่นทั้งสามคนออกรถกันตั้งแต่เกือบหกโมงเช้าของวันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 (5/5/55….เลขสวยนะเนี่ย) จากบ้านพักริมคลองชลประทาน ตำบลท่าโพธิ์ พิษณุโลก ไปถึงโมทนาเซรามิค บ้านเกาะตาเลี้ยง อำเภอศรีสำโรง ประมาณ 11.20 น. เพราะมัวแต่เสียเวลาพักเที่ยวเป็น “พระยาน้อยชมตลาด” กันแถวกงไกรลาศ ซะนาน

บ้านไม้แสนสวย แถวกงไกรลาศ

ระยะทางช่วงแรกอยู่ในราวแปดสิบกว่ากิโล………ส่วน Nakoi ออกจากบ้านเก้าโมงเช้า ขับรถหลงทางไปซะรวมยี่สิบกิโลด้วยความเบลออออออออออออ แต่ก็ยังไปถึงโมทนาก่อนนักปั่นค่ะ

อากาศไม่ค่อยร้อนมากนัก เนื่องจากคืนก่อนออกเดินทางมีฝนตกหนัก ตอนเช้าอึ่ง กบ และเขียด ต่างพากันออกจากจำศีล เกลื่อนกลาดเต็มท้องถนนไปหมด มีทั้งที่รอดชีวิต และถูกรถทับแบนแตดแต๋….หลังจากสนทนาแลกเปลี่ยน รวมทั้งโม้กับคุณอู๊ด เจ้าของโมทนาเซรามิค…….ศิลปินพื้นบ้านช่างปั้น ฝีมือสุดยอดแห่งบ้านเกาะตาเลี้ยงแล้ว Namai เห็นว่าเราควรจะเอาจักรยานใส่รถ แล้วพากันไปเติมพลังมื้อบ่ายกันซะก่อนที่ร้านครัวยายทวดเจ้าเก่าเพราะ Namai แรงหมด ปั่นไม่ไหวแย้ววววววววววววววว

คืนนี้เราตัดสินใจพักค้างอ้างแรมกันที่เมืองเก่า ฝนฟ้าค่อนข้างอึมครึม พรุ่งนี้จะปั่นได้มั้ยหนอ…..เข้าถึงที่พัก ทุกคนขอนอนเอาแรงก่อนหล่ะกัน เดี๋ยวตอนเย็นๆ ออกไปปั่นชมเมือง หาอะไรอร่อยๆ ใส่ปากกันดีกว่า….Nakoi…..ก็จะได้โอกาสปั่นกับเขาบ้างก็ตอนนี้แหละ
รุ่งเช้า…ฝนฟ้าไม่เป็นใจ มืดครึ้ม อึมครึมตลอด สลับกับลงเม็ดมาเป็นระยะๆ แต่ก็ดีไปอย่างนะ ทำให้อากาศไม่ร้อน สบายดี แต่พ่อโรเบิร์ต เกิดกรุง กลับไม่ชอบ เพราะเหงื่อไม่ออก พวกเราเริ่มต้นถนนพระร่วงจากที่พักในเขตเมืองเก่านี่แหละค่ะ ออกไปทางทิศใต้ ผ่านประตูนะโม ไปยังวัดพระเชตุพน และวัดเจดีย์สี่ห้อง…..ท้องฟ้ามืดครึม ฝนตกพร่ำๆ สลับกับแรงบ้างอย่างสม่ำเสมอ แต่อากาศก็เย็นสบายดีค่ะ

บรรยากาศสองฟากฝั่งถนนช่วงผ่านวัดพระเชตุพนไปแล้ว จะเป็นนาข้าวสีเขียวชอุ่มชุ่มฉ่ำ มีต้นแคนาต้นใหญ่ดอกร่วงกราวลงพื้นดิน ขาวไปทั่วพื้นข้างถนน ตัดกับสีเขียวของต้นข้าว….แหม! มันช่างสวย สดชื่นซะนี่กระไร

ผ่านโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ไม้

เส้นทางปั่นของพวกเราไปสิ้นสุดกันที่บ้านทานตะวัน บริเวณที่ถนนพระร่วงตัดกับทางหลวงหมายเลข 101 รวมระยะทางทั้งหมดอยู่ในราว 120 กิโลเมตร เห็นจะได้ บรรยากาศสองข้างทางบนถนนประวัติศาสตร์สายนี้ มีเรื่องเล่าขานและตำนานที่น่าสนใจอีกมากมาย อันนอกเหนือไปจากทิวทัศน์อันสวยงาม ขอบคุณธรรมชาติ และบรรพบุรุษผู้รังสรรค์สวรรค์บนดินที่สวยงามให้กับพวกเรา….ขอบคุณค่ะ

ถั่วน้องก้อย


Nakoi เป็นคนชอบกินขนมถั่วกวนเป็นพิเศษ ตอนเด็กๆ มักจะซื้อขนมถั่วกวนจากรถเข็นขนมหวานที่ขายตามตลาด แต่ช่วงหลังๆ รู้สึกว่าจะหาซื้อหากินได้ยากกว่าสมัยก่อนนะคะ….

ถั่วกวน ถั่วพิมพ์
ถั่วกวน ถั่วพิมพ์

แต่เมื่อวานนี้ตอนกลางวันไปหาก๊วยเตี๋ยวที่ใส่ท้องที่ตึกคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร แวะซื้อน้ำร้านข้างร้านก๊วยเตี๋ยว ตาเหลือบไปเห็นขนมถั่วกวน หรือถั่วพิมพ์ใส่ซองขาย มียี่ห้อที่สะดุดตามาก เขียนไว้ว่า “ถั่วน้องก้อย” โอ้โห! มันโดนมากเลยนะคะ อะไรจะขนาดนั้น….ไม่ซื้อไม่ได้แล้วค่ะ หน้าตาของห่อขนมดูเป็นแบบขนมสมัยเมื่อตอน Nakoi เด็กๆ สัญญลักษณ์ของยี่ห้อขนมเป็นรูปเด็กหญิงพนมมือ เกล้าผมมวยปักปิ่น แบบเด็กสมัยโบราณ เป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของพิษณุโลกค่ะ………Nakoi เห็นว่ามีขนมอยู่สองห่อ เลยซื้อมาหนึ่งห่อ ราคาห้าบาท….แจ๋ว….รสชาดใช่ได้เลยค่ะ…..ต้องหันหลังกลับไปซื้อถุงที่เหลือมาอีก จะเอาไปให้ Namai ชิม และชมเป็นพยาน Nakoi เก็บห่อขนมไว้ด้วยนะคะ เพราะที่หน้าห่อมีเบอร์โทรศัพท์ผู้ผลิต ตั้งใจว่าจะไปหาซื้อฝากน้องๆ หลานๆ เพื่อนๆ ด้วยนะ ก็แหม! มันเป็น “ถั่วน้องก้อย” นี่หน่า

ขนมวง….โดนัทไทยเมืองสองแคว


Thai Donut
ขนมวง

รู้สึกว่าเพิ่งเคยเห็นขนมนี้ครั้งแรกก็แถวเมืองพิษณุโลกนี่แหละค่ะ คนตั้งชื่อก็เข้าใจตั้งแบบง่ายๆ ตามลักษณะของขนมนะคะ ดูน่ารักดี คือมีลักษณะเป็นวงแหวนแบบโดนัทแต่เล็กจิ๋ว แบบกัดสบายปากไม่เลอะเทอะ หาซื้อได้ง่ายทั่วไปในทุกท้องที่ของจังหวัดพิษณุโลก แต่ของเขาก็มีเจ้าดังแบบชนิดที่เป็นที่นิยมของคนเมืองสองแควด้วยนะคะ…โปรดติดตามค่ะ

 

กระทะทอดขนมวง
น้ำมันเต็มกระทะ สำหรับทอดขนมวง

 

ขนมวงทอด
Thai Donuts ขนมวงหลังจากทอดเสร็จก่อนชุบน้ำตาลเคี่ยว

เดิมที่ Nakoi เข้าใจว่าขนมวงเนี่ย…..เป็นขนมไทยแท้พื้นถิ่นของชาวพิษณุโลก แต่ลองหาข้อมูลดูแล้ว ปรากฏว่าเป็นขนมพื้นถิ่นของชาวล้านนา นั่นก็หมายถึง จังหวัดแถบภาคเหนือตอนบน แต่คงจะอร่อยและเป็นที่นิยมมากจึงแพร่กระจายลงไปแถบภาคเหนือตอนล่างอย่างเช่น พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร และอื่นๆ ด้วย ถ้าใครมาแถบทางภาคเหนือตั้งแต่นครสวรรค์ขึ้นไป ก็เป็นอันว่า คงจะหาทานกันได้ในทุกท้องที่ บางครั้งชาวบ้านทางเหนือก็เรียก “ขนมวง” นี้ว่า “เข้าหนมวง” ส่วนไอ้คำว่า “เข้าหนม” หรือ “ข้าวหนม” เนี่ย ก็คือ ข้าวหวาน ซึ่งมีที่มาจากคำว่า “ข้าวหวาน” กับ “ข้าวนม” จากการผสมกันของข้าวกับน้ำอ้อย หรือ น้ำตาล พอชาวบ้านพูดคำว่า “ข้าวหนม” ไปบ่อยๆ จึงเพี้ยนกลายเป็น “ขนม” ในที่สุด อันนี้ Nakoi ไม่ได้คิดเองนะคะ แต่ก็ฟังดูมีเหตุผล และเข้ากันได้ตามลักษณะและอุปนิสัยแบบไทยดี

 

น้ำตาลเคี่ยว (Thai Caramel) ใส่งา สำหรับชุบหรือโรยหน้าขนมวง
ขนมวงชุบน้ำตาลเคี่ยว

ขนมวงนี้มีส่วนผสมที่ดูแล้วทำได้ง่ายดายกว่าโดนัทฝรั่งเยอะเลยค่ะ ที่เห็นๆมาก็มีด้วยกันหลายสูตร ทั้งแบบโรยหน้าหรือเคลือบด้วยน้ำตาลเคี่ยว หรือคาลาเมลไทยนั่นแหละค่ะ กับแบบสอดไส้คาลาเมลไทยข้างในแป้ง (แถบเหนือตอนบน ของพวกไทยใหญ่) ส่วนตัวแป้งก็แค่ใช้แป้งข้าวเหนียวทั้งขาวและดำได้หมด ผสมกับกล้วยน้ำว้า หรือฟักทองบด ใส่กะทิ น้ำตาล เกลือ นิดหน่อย ตามระเบียบของขนมไทยแท้ ปั้นเป็นวงแหวน แล้วนำไปทอด พอสุก สะเด็ดน้ำมัน แล้วชุบหน้าด้านหนึ่งด้วยน้ำตาล หรือน้ำอ้อยเคี่ยว เป็นอันเสร็จ สูตรมีเยอะแยะ หาได้ง่ายตามเว็บไซด์ต่างๆ นะคะ เผื่อใครอยากลองทำดู สำหรับคนไม่ชอบทำ ก็หาซื้อทานเอาค่ะ มีขายทั่วไปอย่างที่บอกราคาไม่แพง อย่างร้านดังของชาวพิษณุโลก คือ “ขนมวงโบราณแม่แอ๊ด” สูตร ๓๐ ปีค่ะ

 

ขนมไข่เหี้ย ร้านแม่แอ๊ด
ขนมไข่เหี้ย

ร้านนี้ขายขนมวงกับขนมไข่เหี้ยลูกจิ๋ว ตั้งอยู่ที่ถนนริมน้ำด้านวัดจันทร์ตะวันออก (แต่อยู่หัวมุมคนละฝั่งถนนกับวัดนะคะ) ใครมีธุระปะปัง หรือผ่านไปแถวนั้นก็ลองแวะชิมกันได้นะคะ ที่ร้านนี้น้ำตาลโรยหน้า เขาใส่งาลงเป็นด้วย ช่วยเป็นตัวชูรสให้มีกลิ่นหอมอ่อนของงา เวลาเคี้ยวแล้วสะดุดเมล็ดงาเล็กๆ แหม! มันเพิ่มความอร่อยได้เหมือนกันแฮะ…… ร้านป้าแอ๊ดขายถุงละสิบบาท ยี่สิบบาท ใช้กระทงใบตองใส่รองให้ด้วย Nakoi ชอบมากกว่าใช้กระดาษหรือถาดโฟมรองค่ะ มันดูเป็นธรรมชาติ และบ้านๆ ดีค่ะ ขนมทอดใหม่ๆ กรอบนอกนุ่มในหวานหอมน้ำตาลและงา….อืมมมมมมมม

บันทึก#2 ศิลป์วิจารณ์


Nakoi ได้เขียนงานวิจารณ์นิทรรศการนี้ไว้เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว เป็นงานเขียนสอบภาคปลายปีพ.ศ. ๒๕๓๒ นำมาบันทึกไว้อ่านเล่น เพื่อให้เห็นบรรยากาศของแวดวงศิลปะเมื่อยี่สิบปีที่แล้วค่ะ

บทความวิจารณ์งานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๓๕

          สำหรับแวดวงศิลปะในบ้านเราขณะนี้ มีความเจริญก้าวหน้าขึ้นมาก ประชาชนทั่วไปให้ความสนใจในเรื่องราวของศิลปะมากขึ้น สังเกตได้จากจำนวนห้องจัดแสดงงานศิลปะของเอกชน จำนวนศิลปินหน้าใหม่ที่เกิดขึ้น การจัดการประกวดศิลปกรรมต่างๆ มีมากขึ้นกว่าสมัยก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เยาวชนไทย ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดศิลปกรรมระหว่างชาติมาหลายครั้ง ก็ยิ่งเพิ่มความสนใจในเรื่องของศิลปะให้กับประชาชนในประเทศเรามากขึ้น

              การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๓๕ นี้ จัดขึ้น ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ระหว่างวันที่ ๔ สิงหาคม ถึง ๘ กันยายน ๒๕๓๒ การจัดแสดงศิลปกรรมแห่งชาตินี้ ได้ดำเนินติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่องถึง ๓๕ ครั้ง โดยครั้งแรกเริ่มในปี พ.ศ.๒๔๙๒ โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้บุกเบิกวงการศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มขึ้น ในแต่ละครั้งก็มีจำนวนศิลปินที่สนใจส่งงานเข้าร่วมการประกวดเป็นจำนวนมาก สำหรับครั้งนี้ก็เช่นกัน โดยแบ่งแยกประเภทของงานออกเป็นด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มีคณะกรรมการผู้คัดเลือกและตัดสินเป็นผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญในด้านศิลปะ อาจารย์จากสถาบันที่มีการสอนศิลปะ ศิลปินอิสระผู้มีชื่อเสียง ผลการตัดสินคัดเลือกจากผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายจำนวน ๑๕๙ ชิ้น โดยตัดสินแยกเป็นประเภทดังนี้ คือ ผลงานที่ได้รับเกียรตินิยมอันดับ ๑ เหรียญทอง ประเภทภาพพิมพ์ คือ ผลงาน “สัญลักษณ์ในพิธีกรรมหมายเลข ๑๑” โดยนายถาวร โกอุดมวิทย์ ส่วนในประเภทจิตกรรมและประติมากรรม ไม่มีผู้ได้รับรางวัลนี้ ส่วนรางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๒ เหรียญเงิน สาขาจิตรกรรม คือ ผลงาน”ภวังค์แห่งอำนาจ” โดยนายชาติชาย ปุยเปีย งานประติมากรรมนั้น ก็มีเพียงรางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๒ และ ๓ เช่นเดียวกับงานจิตรกรรม

                สถานที่จัดแสดงที่ใช้ คือ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นั้น เดิมเป็นอาคารวังท่าพระ และอาคารท้องพระโรง ที่มีความสวยงามทางด้านสถาปัตยกรรมอยู่แล้ว เมื่อได้ใช้เป็นที่จัดแสดงงานที่มีคุณค่า น่าสนใจ ก็ยิ่งทำให้น่าสนใจที่จะได้ไปเยี่ยมชมมากขึ้น อาคารที่จัดแสดงทั้ง ๒ ชั้น ถูกบรรจุไปด้วยผลงานศิลปะมากมายของศิลปินหลายท่าน ทั้งศิลปินที่ชนะเลิศการประกวดและศิลปินเชื้อเชิญ รวมทั้งยังมีผลงานของศิลปินผู้ซึ่งมีความสำคัญ และน่าสนใจมากที่สุด ไม่แพ้ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ก็คือ ภาพฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเข้าร่วมจัดแสดง มาตั้งแต่การจัดแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๑๔ และได้เข้าร่วมแสดงมาอย่างสม่ำเสมอ ภาพฝีพระหัตถ์ของพระองค์นั้น จะจัดแสดงอยู่ส่วนหน้าสุดของงานในห้องแรก เป็นภาพบุคคลในลักษณะกึ่งนามธรรม ใช้สีสด มีคุณค่าอย่างยิ่ง

                สถานที่จัดแสดงนั้นดูจะแคบลงไปถนัดตาเมื่อถูกบรรจุด้วยผลงานศิลปะจำนวนหลายสิบชิ้น โดยไม่ได้มีการจัดแบ่งประเภทของงานให้แยกจากกัน แต่ในแต่ละห้องที่จัดแสดง จะมีผลงานที่ได้รับรางวัลจากการประกวดครั้งนี้จัดแสดงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นผลงานประติมากรรมที่ได้รับรางวัล ที่ตั้งแสดงไว้กลางห้อง ผลงานจิตรกรรมหรือภาพพิมพ์ที่ได้รางวัลเหล่านี้ ผู้จัดสถานที่คงทำเพื่อให้ผู้ชมเกิดความสนใจที่จะชมงานชิ้นอื่นๆควบคู่กันไปด้วย ซึ่งงานเหล่านั้นก็ใช่ว่าจะด้วยคุณค่าและฝีมือ ในแต่ละผลงานที่แสดงจะมีคำบรรยายประกอบแนวความคิดในการทำงาน ชื่อศิลปิน ชื่อผลงาน บอกไว้ ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจงานนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังมีการแจกเอกสารของงาน ที่มีวีดีโอประกอบคำบรรยาย ให้รายละเอียดเกี่ยวกับผลงานศิลปะที่ได้จัดแสดงไว้ด้วย เป็นการให้ความรู้แก่ผู้เข้าชม ผู้ที่ไม่มีความรู้ทางด้านศิลปะมาก่อน หรือมีน้อยก็สามารถดูงานนี้ได้เข้าใจเป็นอย่างดี ซึ่งจุดนี้ถือว่าเป็นส่วนที่ดีของการเผยแพร่ความรู้ทางด้านศิลปะให้กับประชาชนทั่วไปได้เข้าใจ

                สิ่งที่น่าสนใจสูงสุดของงานนี้อีกอย่างก็คือ ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเกียรตินิยมอันดับ ๑ เหรียญทอง คือ ผลงานชื่อ “สัญลักษณ์ในพิธีกรรมหมายเลข ๑๑” โดยนายถาวร โกอุดมวิทย์ เป็นผลงานประเภทภาพพิมพ์ จัดแสดงอยู่ในหองชั้นบน โดยส่วนตัวของศิลปินเองแล้ว อาจจะไม่ต้องพูดถึงความสามารถ และรางวัลเกียรติยศต่างๆ ที่ได้รับทั้งจากภายในประเทศและภายนอกประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงความสามารถของตัวศิลปิน จนเป็นที่ยอมรับว่า เป็นศิลปินในอันดับแนวหน้า ในบรรดาศิลปินรุ่นใหม่ของวงการศิลปะในบ้านเรา สำหรับผลงานชิ้นนี้ ศิลปินมีแนวความคิดที่นำเอาสัญลักษณ์ความเชื่อทางพิธีกรรมมาแสดงออกในงานศิลปะ โดยใช้ก้อนหินและแผ่นทองที่ปิดอยู่บนก้อนหิน เป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อ ความเคารพนับถือ และพิธีกรรม โดยที่ผู้ชมสามารถรู้ได้ทันทีเมื่อเห็นแผ่นทอง เพราะเป็นสิ่งที่ใกล้ชิดกับชีวิตของคนไทย และเป็นที่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ดังเช่น การที่คนไทยไปไหว้พระพุทธรูปและปิดทองลงบนองค์พระ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพนับถือในสิ่งที่ตนเองเชื่อถือ และก้อนหินก็เปรียบเหมือนตัวแทนของสิ่งที่เคารพที่เป็นความเชื่อนั้น สิ่งนี้เป็นความสามารถของศิลปินในการเลือกใช้วัสดุในการสื่อความหมายได้อย่างดี สามารถเข้าใจได้ง่าย

                วัสดุที่ใช้เป็นพื้น คือ กระดาษสา คุณลักษณะของกระดาษนั้น มีความนิ่ม นุ่ม มีเส้นใยเล็กๆ ในเนื้อ ที่บ่งบอกถึงความละเอียดอ่อน บอบบาง ควรแก่การระมัดระวัง รักษา ซึ่งก็เปรียบเสมือนความตั้งใจในการที่จะทำสิ่งที่ดีตามความเชื่อถือ สีที่ใช้ คือ สีดำ เทา ขาว นั้น ก็สามารถบ่งบอกถึงอารมณ์ ความรู้สึกได้เป็นอย่างดี ในความรู้สึกที่นิ่ง สงบ เงียบ สุขุม น่าเกรงขาม และบริสุทธิ์ การใช้สีที่แบ่งพื้นที่เป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งใช้สีเข้ม อีกส่วนใช้สีอ่อน โดยในส่วนของสีอ่อนนั้น จัดวางรูปก้อนหินที่มีสีเข้มเรียงกันลงมา เป็นการถ่ายน้ำหนักของสีเข้มอีกด้าน ทำให้ได้ดุลกันอย่างเหมาะสม

                รูปลักษณะของงานนี้เป็นแบบรูปธรรมที่แฝงไว้ด้วยเนื้อหาสาระที่เป็นนามธรรม ถึงแม้นจะมีการจัดองค์ประกอบอย่างง่ายๆ ใช้สีที่เรียบง่าย ใช้วัสดุธรรมดา รวมกับเทคนิคภาพพิมพ์ ก็สามารถทำให้ผู้ดูรู้และเข้าใจในจุดมุ่งหมายของศิลปินที่ต้องการแสดงให้ผู้ชมได้รับรู้

                ถ้าดูงานโดยรวมๆ แล้ว จะเห็นว่า ส่วนใหญ่นั้น งานมีรูปแบบที่เป็นนามธรรมเสียมาก มีแนวความคิดในการแสดงออกที่ค่อนข้างจะเครียด ให้อารมณ์ความรู้สึกที่สะเทือนใจผู้ชม แต่ก็มีผลงานบางชิ้นที่แสดงถึงความสนุกสนานในงาน และผลงานของนายประสงค์ ลือเมือง ศิลปินเชื้อเชิญ เป็นผลงานชิ้นที่ดูแล้วสนุกสนาน เป็นสีสด มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของศิลปินแสดงไว้ในงาน คือ การนำเอาสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านทางเหนือมาใส่ไว้ในงานของเราเสมอๆ ภาพดูแล้วเหมือนมีการเคลื่อนไหว

                ผลงานที่ดูแล้วมีลักษณะเหมือนจริง เช่น งานภาพพิมพ์ที่เป็นรูปปลา ซึ่งเป็นสิ่งที่ศิลปินคุ้นเคยอยู่ และนำมาใช้ในการแสดงออกในงานศิลปะ ซึ่งก็มีมีงานหลายชิ้นที่มีลักษณะการแสดงออกถึงสิ่งที่ตัวศิลปินเองคุ้นเคย ดังเช่น ผลงาน “เสมา ฟ้าแดด” ของบุญหมิ่น คำสะอาด เป็นการนำเอาลักษณะของใบเสมา มาแสดงในงาน ส่วนคำว่า “ฟ้าแดด” นั้น เป็นชื่อเมืองในจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่มีพุทธศาสนาเจริญมากว่า ๑,๐๐๐ ปี และเป็นที่มาของแนวความคิดนี้ เพราะตัวศิลปินเองคุ้นเคยอยู่กับสิ่งนี้ ทำงานเป็นอาจารย์สอนศิลปะอยู่ที่จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นบ้านเกิดของศิลปินด้วย อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน

                ผลงานที่นับว่าแปลกไปจากชิ้นอื่นๆ ที่จะกล่าวถึง คือ งานของนายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ชื่อ “ๆ บ้า ๆบอ” ฟังชื่อแล้วดูเหมือนไร้สาระ แต่เมื่อได้ชมแล้วจะรู้สึกว่า งานนี้มีความน่าสนใจทีเดียว จัดแสดงในห้องด้านในสุดของชั้นล่าง กั้นประตูทางเข้าให้ยืนชม (นั่งชม) ได้จากภายนอกเท่านั้น เป็นงานประเภทที่เรียกว่า Environmental Art และ Light Art  โดยมี Sound Effect ประกอบ ที่ประตูจะมีแผ่นสังกะสีที่แขวนไว้เป็นกลุ่มด้านในสุด มีพัดลมซ่อนอยู่มุมหนึ่งของห้อง (คนดูไม่เห็น) เป่าให้แผ่นสังกะสีปลิวไหวน้อยๆ พร้อมกับมีไฟส่องที่เกิดสีสันและเงา ประกอบกับเสียงเบาๆ เป็นจังหวะๆ ผู้ชมจะเกิดความรู้สึกที่วังเวง แฝงไว้ด้วยความน่ากลัว เหมือนการค้นหาอะไรบางอย่าง แผ่นสังกะสีที่ปลิวไหวเล็กน้อยนั้น จะสะกิดอารมณ์ของผู้ชมอยู่เสมอ และเป็นจุดที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของงานนี้

                เมื่อเดินชมงานจนทั่วแล้ว ประกอบกับการสังเกตผู้เข้าชมงานนี้หลายวัน จะเห็นได้ว่า การจัดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งนี้ ดูจะประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีทีเดียว มีผู้เข้าชมจำนวนมากเทียบกับงานแสดงศิลปะอื่นๆ ที่ผ่านมา ผู้เข้าชมนั้นมีทั้งนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ที่มีความสนใจ และสามารถดูงานได้อย่างเข้าใจมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แสดงให้เห็นว่าวงการศิลปะในบ้านเรา ได้กำลังขยายตัวในวงที่กว้างขวางออกไป ไม่จำกัดอยู่ในแวดวงของผู้ที่ศึกษาศิลปะ หรือศิลปินเท่านั้น สำหรับผู้ที่สนใจจะเข้าชม ก็ยังพอมีเวลาเหลืออีกหลายวัน แต่ถ้างานนี้ได้มีการจัดแสดงในที่ที่เป็นแหล่งชุมชน มีสถานที่ที่กว้างขวางกว่านี้ (เช่นที่ ห้องแสดงนิทรรศการเซ็นทรัล ลาดพร้าว) อีกสักครั้ง ก็จะเป็นการดีมาก เพราะจะทำให้มีคนอีกจำนวนมากได้รับรู้ถึงความก้าวหน้า ความเคลื่อนไหวต่างๆ ในวงการศิลปะบ้านเราได้มากกว่าที่เป็นอยู่ และจะทำให้การพัฒนาของศิลปะเป็นไปได้อย่างดียิ่งขึ้นไปอีก

บันทึก#1….ศิลปวิจารณ์


      นึกยังไงไม่ทราบ ไปรื้อหนังสือเก่า เจอสมุดข้อสอบวิชาศิลปวิจารณ์ เมื่อปีพ.ศ. 2532 หรือ 20 ปี ที่ผ่านมา  ที่ Nakoi ได้เขียนขึ้น ในการสอบวิชานี้ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2532 ณ คณะโบราณดคี มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระ กรุงเทพมหานคร………ผลการสอบออกมาก็เป็นที่น่าพอใจคะ เมื่อกลับมาอ่านอีกครั้งในวันนี้ ก็เห็นว่า เหมาะสมกับคุณวุฒิ และวัยวุฒิ ขณะนั้น อยากจะบันทึกเก็บไว้ก่อนที่กระดาษจะผุไปหมดซะก่อนค่ะ….ในวิชานี้แบ่งข้อสอบเป็นสามส่วน ข้างล่างนี้เป็นตอนที่ 2 ส่วนตอนที่ 3 จะนำมาเก็บบันทึกไว้ต่อจากบทนี้ด้วยคะ

      ในการวิจารณ์ศิลปะของบ้านเรา ผู้วิจารณ์ศิลปะในสื่อมวลชนที่เป็นที่รู้จักกันดีนั้น มักเป็นศิลปินด้วยกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะผู้ที่จะมีความรู้ความเข้าใจในงานศิลปะเป็นอย่างดี ยังมีน้อย แม้แต่ในวงการศิลปะเอง ก็ยังมีผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะไม่มากนัก เมื่อเทียบความเจริญทางด้านศิลปะของประเทศไทยกับต่างประเทศ คนที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของศิลปะเป็นอย่างดี จนถึงกับสามารถถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้รับรู้ถึงคุณค่า รสชาติ ลักษณะของงานศิลปะได้ จึงมีอยู่น้อย หรือแทบไม่มีเลย ดังนั้น ผู้ที่สามารถเข้าใจได้เป็นอย่างดี ในเรื่องขั้นตอนต่างๆ ของการทำงานศิลปะ จึงเป็นตัวศิลปินเอง แต่ถึงอย่างไร จำนวนนักวิจารณ์ศิลปะในเมืองไทย ก็ยังมีจำนวนน้อยอยู่ และยังไม่ขยายกว้างออกไปนัก รวมทั้งยังต้องการการสนับสนุนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นตัวสื่อมวลชนเองที่จะเปิดโอกาสให้บรรดานักวิจารณ์ศิลปะทั้งหน้าใหม่ และเก่า ได้แสดงฝีมือกันอย่างเต็มที่ ยังมีหนังสือเกี่ยวข้องกับศิลปะโดยตรงที่จะเ ปิดโอกาสให้นักวิจารณ์ศิลปะหน้าใหม่ได้แสดงผลงาน และตัวนักวิจารณ์ศิลปะเองที่มีอยู่นั้น ก็ไม่ได้ทำงานกันอย่างสม่ำเสมอ แต่จะทำงานกันเป็นเพียงช่วงๆ เท่านั้น สำหรับตัวนักวิจารณ์ศิลปะที่เป็นศิลปินด้วย คนที่เป็นที่รู้จักกันดี เช่น อาจารย์พิษณุ ศุภนิมิตร และ  น. ณ ปากน้ำ เองก็เป็นศิลปินที่หันมาจับงานด้านวิจารณ์ศิลปะอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ปัจจุบันนี้ก็ได้เลิกไปแล้ว หันไปศึกษาทางด้านโบราณคดี และประวัติศาสตร์ศิลปะแทน

      แต่ถ้าจะกล่าวว่าศิลปินเท่านั้น ที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการเป็นนักวิจารณ์ศิลปะ ก็อาจจะไม่ถูกต้องนัก เพราะนักวิจารณ์ศิลปะนั้น จะเป็นใครก็ได้ที่มีความรู้ ความสามารถในการอ่านภาษาทัศนศิลป์ ที่ศิลปินได้แสดงออกในงานของเขา และสามารถถ่ายทอดให้ผู้อ่านได้รับรู้ เข้าใจ และมีความเห็นคล้อยตาม สามารถใช้ภาษา สำนวนการเขียนได้อย่างสละสลวย อ่านรื่นหู เข้าใจได้ง่าย มีความชำนาญในการดูงานศิลปะทุกๆ ประเภท ไม่เจาะจงเฉพาะงานในสาขาที่ตนเองถนัด หรือชื่นชอบเท่านั้น ทั้งยังจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นอย่างดี สามารถชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงของศิลปะ และอิทธิพลของศิลปะต่างๆ ที่มีผลกับศิลปะสมัยใหม่ และในการเขียนวิจารณ์ศิลปะนั้น จะต้องมีความเป็นกลางในการประเมินค่าของงานศิลปะ มีความคิดที่เปิดกว้าง เข้าใจในสภาพแวดล้อมของสถานการณ์ในปัจจุบันในทุกๆ ด้าน เพราะสิ่งเหล่านี้ จะเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลในการสร้างสรรค์งานของศิลปิน ไม่วิจารณ์งานศิลปินโดยใช้ตัวเองเป็นเครื่องตัดสินว่า ชอบ หรือไม่ชอบงานศิลปะนั้นๆ เพราะว่า ชื่นชอบ หรือไม่ชอบตัวศิลปินผู้สร้างงานศิลปะนั้นๆ และต้องพร้อมที่จะให้คำแนะนำในเชิงที่สร้างสรรค์ เพื่อเป็นประโยชน์แก่สังคม ประเทศชาติ

      ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นศิลปินหรือไม่ก็ตาม ทุกคนมีโอกาสที่จะเป็นนักวิจารณ์ศิลปะได้หมด ถ้ามีคุณสมบัติที่เหมาะสม มีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องขั้นตอนการทำงานศิลปะ เฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าได้ผ่านการปฏิบัติงานด้านศิลปะมาบ้างก็จะดีมาก แต่ไม่ต้องถึงกับขนาดว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือชำนาญ มีประสบการณ์ในการดูงานศิลปะ เขียนวิจารณ์ศิลปะมามาก ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะ นักดนตรี ทุกคนสามารถเป็นนักวิจารณ์ศิลปะที่ดีได้ทั้งนั้น ถ้าได้รับการฝึกฝนอย่างพอเพียง